ประวัติ ของ ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)

ขุนหลวงพระยาไกรสี สุภาวภักดี ศรีมนธาตุราช อำมาตยคณาการ มีนามเดิมว่า เปล่ง เวภาระ เกิดเมื่อวันจันทร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 ปีจอ จุลศักราช 1224 ตรงกับวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2405 ที่บ้านของหม่อมเจ้าหญิงประดับ ตำบลบางลำพู ริมวัดบวรนิเวศวิหาร บิดาเป็นมหาดเล็กหลวงชื่อนายหริ่ง ซึ่งเป็นบุตรคนที่ 9 ของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) มารดาชื่อ แก้ว

เริ่มเรียนหนังสือไทยเมื่ออายุได้ 9 ขวบ กับสำนักพระครูปริตโกศล (แปร่ม) วัดบวรนิเวศวิหาร เรียนได้ปีเศษ ก็มาเรียนกับป้าชื่อแสง ซึ่งเป็นบุตรีของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) เรียนทั้งหนังสือไทย หนังสือขอมและภาษาบาลี จนอายุได้ 13 ปี ก็ไปเป็นศิษย์เรียนหนังสือไทย หนังสือขอม ภาษาบาลีและวิชาเลข อยู่กั่บพระอริยมุนี (เอม) แต่เมื่อยังเป็นพระครูพุทธมนต์ปรีชา ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

จนอายุได้ 15 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ทรงเอาไปบำรุงเลี้ยง และทรงสั่งสอนและฝึกหัดกฎหมายไทยและขนบธรรมเนียมราชการอยู่ 2 ปีเศษ จึงโปรดส่งให้ไปเล่าเรียนที่โรงเรียนพระราชวังนันทอุทยาน ซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วนสอนภาษาอังกฤษ มีหมอแมคฟาร์แลนด์ (S.G. Mcfarland) เป็นอาจารย์ใหญ่ และ แหม่มโคล (Miss Edna S.Cole) เป็นครูสอน

พออายุได้ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งตัวไปเรียนกฎหมายที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เรียนกฎหมายโรมัน กฎหมายอังกฤษ กฎหมายระหว่างประเทศ ฯลฯ และฝึกหัดว่าความ จนจบเป็นเนติบัณฑิตในปี พ.ศ. 2431 นับเป็นคนไทยคนแรกที่ไปเรียนกฎหมายสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ จากสำนักมิดเดิลเทมเปิล (Middle Temple) แห่งกรุงลอนดอน ได้รับพระราชทานเงินรางวัลเรียนดีชั้นที่ 1 จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเงิน 50 ปอนด์ และได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา หลังจากนั้นจึงได้เริ่มรับราชการที่กรมท่า (กระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน) เป็นแห่งแรก และมีความเจริญก้าวหน้าในทางราชการมาตามลำดับ

ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) มีบุตรกับคุณหญิงทองคำ 4 คน คือ คุณชื่นจิต คุณสฤษดิ์ลาภ คุณผ่องศรี (สมรสกับ พระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค)) และคุณสฤษดิ์พร

ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) ป่วยเป็นโรคมานกษัย ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2444[1] อายุได้ 38 ปี 6 เดือน แต่ศพของท่านได้ถูกเก็บไว้ที่วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี โดยไม่มีผู้ใดทราบ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 มีผู้ไปพบศพและแจ้งให้นายมารุต บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น (ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานตาของท่าน) ทราบ จึงได้ดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพตามประเพณี โดยประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2526